แหนแดง (Azolla)
เป็นเฟิร์นน้ำเล็กๆ เจริญเติบโตและลอยอยู่บนผิวน้ำในเขตร้อน และเขตอบอุ่น โดยจะดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกันกับสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินกลุ่มไซยาโนแบคทีเรียชื่อ Anabana azollae อาศัยอยู่ ที่สามารถตรึงก๊าซไนโตรเจนในอากาศ (symbiotic nitrogen fixing microorganisms) ให้มาเป็นสารประกอบในรูปของแอมโมเนียม ทำให้แหนแดงมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบสูงถึง 3 – 5 % ทำให้แหนแดงกลายเป็นปุ๋ยพืชสดที่ดี
แหนแดง มีอยู่มากมายหลายสายพันธุ์ ประมาณ 7 สายพันธุ์ แต่ที่เหมาะสำหรับประเทศไทย มีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ อะซอลล่า พินนาต้า (Azolla pinnata) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมในประเทศไทย กับสายพันธุ์ อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า (Azolla microphylla) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตร นำเข้ามาเพื่อคัดพันธุ์
คุณสมบัติของ แหนแดง
เนื่องจากกาบใบบนด้านหลังของแหนแดงมีโพรงใบและมีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินอาศัยอยู่ในโพรงใบของแหนแดง เมื่อนำมาวิเคราะห์ พบว่า มีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ สูงถึง 4.6 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าพืชตระกูลถั่วที่มีอยู่ ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อนำเอา แหนแดง 1 หน่วยมาทำการวิเคราะห์ ธาตุอาหารต่างๆ สามารถแจกแจงได้ดังนี้
คุณค่าทางธาตุอาหารในแหนแดง
เถ้า : 10.5%
ไขมันทั้งหมด : 3.0-3.3%
น้ำตาลที่ละลายได้ : 3.5%
แป้ง : 6.5%
โคโลฟิลล์ : 0.34-0.55%
เส้นใยทั้งหมด : 9.1%
ไนโตรเจน : 24.0-30.0%
ฟอสฟอรัส : 4.5-5.0%
แคลเซียม : 0.4-1.0%
โพแทสเซียม : 2.0-4.5%
แมงกานีส : 0.5-0.6%
แมกนีเซียม : 0.11-0.16%
เหล็ก : 0.06-0.26%
การนำแหนแดงไปใช้ในนาข้าว
แหนแดงสด ถ้าจะใส่ในนาข้าว ให้นำไปหว่าน 2 ช่วง ด้วยกัน ช่วงแรก หว่านแหนแดงก่อนตีเทือก เพื่อให้แหนแดงไปเพาะขยายในท้องนา ประมาณ 20 วัน แล้วไถกลบ เมื่อแหนแดงย่อยสลายก็จะเริ่มปลดปล่อยไนโตรเจนออกมา ดังนั้น เมื่อตีเทือกเสร็จก็หว่านข้าวหรือดำนาได้เลย อีกช่วงหนึ่งถ้าเป็นนาดำ ให้ดำนาไปก่อน แล้วหว่านแหนแดงลงไปในนา แหนแดงจะไปขยายพันธุ์เต็มท้องนา เพราะนาดำมีลักษณะเป็นบ่อน้ำตื้น ประโยชน์ที่ได้ตามมาก็คือ แหนแดงจะช่วยบดบังแสงแดด ป้องกันไม่ให้วัชพืช ข้าววัชพืช ข้าวลีบ หรือข้าวดีด ที่ติดมากับรถเกี่ยวข้าว ตกค้างอยู่ในนา เจริญเติบโตขึ้นมาในนาข้าว
การนำไปใช้เพาะชำพืชหลังจากเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
พืชหลังจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ส่วนมากต้นกล้าของพืชที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะอ่อนแอในระยะอนุบาล และยังไม่ตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีได้ เนื่องจากระบบท่อลำเลียงยังไม่สมบูรณ์ หากใส่ปุ๋ยเคมีลงไปบางครั้งอาจจะทำให้พืชเน่าได้ เพราะปุ๋ยเคมีมีความเค็ม จะทำให้เสียเวลาในการงดใส่ปุ๋ย ประมาณ 20 วัน จึงจะเริ่มใส่ปุ๋ยได้
แต่แหนแดงสามารถผสมลงไปในวัสดุปลูกตั้งแต่เริ่มปลูกกล้าที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้เลย เพราะแหนแดงสามารถปลดปล่อยไนโตรเจนซึ่งเป็นอินทรีย์ที่ไม่มีพิษภัยต่อกล้าพืช กล้าจะดูดซึมไนโตรเจนเข้าไปในรากพืชได้เลย ดังนั้น แหนแดงจึงเหมาะกับการปลูกพืชที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
แหนแดงแห้ง
เนื่องจากแหนแดง เพิ่มปริมาณตัวเองอย่างรวดเร็ว เราก็เก็บรวบรวมมาตากแดดไว้ ประมาณ 2 วัน ก็แห้ง เก็บใส่กระสอบรวบรวมไว้สำหรับใช้ปลูกพืช อัตราที่นำแหนแดงแห้งไปใช้ ประมาณ 20 กรัม ต่อดินวัสดุเพาะ 1 กิโลกรัม จากผลการทดลองปลูกผักสลัดให้ผลเป็นที่น่าพอใจ ดร. ศิริลักษณ์ บอกว่า แหนแดงแห้ง มีคุณสมบัติไม่แตกต่างจากแหนแดงสด เพราะองค์ประกอบของแหนแดงมีไนโตรเจนค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับปุ๋ยยูเรีย แหนแดงแห้ง 6 กิโลกรัม เท่ากับ ปุ๋ยยูเรีย ประมาณ 10-12 กิโลกรัม ซึ่งเพียงพอสำหรับการปลูกพืช
เอกสารอ้างอิง 1) ณัฐสิมา โทขันธ์. 2553. การจัดการของเสียและน้ำเสียในฟาร์มสุกรโดยใช้แหนแดง. 2) อร่าม คุ้มกลาง, ธรรมนูญ ฤทธิมณี และสาวิตร มีจุ้ย. 2523. ผลการใช้แหนแดงแทนปุ๋ยไนโตรเจนต่อผลผลิตของข้าว
Comentarios